แนะนำให้อ่าน

วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2554

“หอยหวาน” สัตว์เศรษฐกิจที่ต้องรู้เทคนิคการเลี้ยง

“หอยหวาน” สัตว์เศรษฐกิจที่ต้องรู้เทคนิคการเลี้ยง

หากใครเคยไปที่ร้านอาหารทะเลเผาคงเคยลิ้มลองรสชาติของ “หอยหวาน”มาบ้างแล้ว รู้หรือไม่? ว่ากว่าจะมาเป็นเมนูรสแซ่บที่เสิร์ฟตรงหน้าเรา เจ้าสัตว์น้ำทะเลเหล่านี้มีการดำรงชีวิตอยู่ และมีที่มาที่ไปอย่างไร
     
       เนื่องจากความต้องการในการบริโภคหอยหวานมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณหอยหวานในธรรมชาติกลับมีจำนวนลดลง เพราะเติบโตไม่ทันกับความต้องการของมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) จึงได้เปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงหอยหวานเชิงพาณิชย์แบบครบวงจร” รุ่นที่ 2 พร้อมพาชมการปฏิบัติงานในโรงเพาะฟักบ่อเลี้ยงหอยหวานขนาดตลาด และบ่อดินเลี้ยงหอยหวานขนาดตลาด ณ หน่วยวิจัยและเลี้ยงหอยหวาน ต.หาดเจ้าสำราญ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
     
       ดร.นิลนาจ ชัยธนาวิสุทธิ์ นักวิจัย ระดับ 8 สถาบันวิจัยทรัพยากรสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า โรงเพาะฟักหอยหวานนั้นมีองค์ประกอบที่มีความสำคัญ 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ระบบน้ำทะเลที่ใช้ในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หอยหวาน การอนุบาลลูกหอยหวาน และการเพาะเลี้ยงแพลงก์ตอนพืช ซึ่งจะต้องสะอาดผ่านการกรองและฆ่าเชื้อโรค ส่วนที่ 2 คือระบบอากาศ ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยการใช้เครื่องปั๊มอากาศที่มีแรงดันมากพอ
     
       สำหรับบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และการเพาะพันธุ์หอยหวาน ดร.นิลนาจ อธิบายว่า ควรเป็นบ่อซีเมนต์หรือบ่อผ้าใบขนาดประมาณ 3.0X3.0X0.7 เมตร พื้นบ่อปูด้วยทรายหยาบหนาประมาณ 5.0 ซม.และใช้ระบบน้ำทะเลแบบไหลผ่านตลอด โดยอัตราการไหลประมาณ 300 ลิตรต่อชั่วโมง ทั้งนี้ ในแต่ละบ่อจะปล่อยพ่อแม่พันธุ์หอยหวานประมาณ 1,400 ตัวต่อบ่อ โดยให้ปลาทั้งตัวเป็นอาหารแบบให้กินจนอิ่ม เป็นประจำทุกๆวัน วันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า
     
       เมื่อหอยวางไข่แล้วจึงทำการเก็บรวบรวมฝักไข่ โดยวิธีปล่อยน้ำทิ้งแล้วลงเก็บในบ่อด้วยมือ จากนั้นนำไข่มาทำความสะอาดและแบ่งใส่ตะกร้าพลาสติกประมาณ 150-200 ฝักต่อตะกร้า และนำไปห้อยแขวนที่ระดับกลางน้ำในถังฝักไข่ จนกระทั่งลูกหอยหวานระยะวัยอ่อนฟักออกจากฝักไข่ โดยเติมน้ำทะเลที่มีอุณหภูมิและความเค็มเท่ากับน้ำทะเลในถังฝักไข่ทุกครั้ง
     
       ส่วนการพัฒนาการของหอยหวานนั้น ลูกหอยหวานระยะวัยอ่อนจะกินแพลงก์ตอนพืชเป็นอาหาร ด้วยการใช้ขนที่อยู่รอบตัวโบกพัดอาหารเข้าสู่ช่องปาก โดยลูกหอยระยะวัยอ่อนบางส่วนที่มีอายุ 12-13 วันจะเริ่มพัฒนาเป็นลูกหอยระยะลงพื้น หลังจากนั้นจะทำการเก็บรวบรวมลูกหอยไปเลี้ยงต่อในถังเลี้ยงลูกหอยระยะเต็ม วัย โดยถังเลี้ยงได้ออกแบบพิเศษด้วยการใช้ระบบน้ำฉีดเป็นฝอยบริเวณผนังบ่อ พื้นบ่อปกคลุมด้วยทรายละเอียดมีความหนาประมาณ 0.2 ซม.ความหนาแน่นของลูกหอยที่เลี้ยงประมาณ 3,000-4,000 ตัวต่อต่อถังอนุบาล
     
       “การผลิตหอยหวานระยะวัยรุ่นในโรงเพาะฟัก พบว่าหอยหวานสามารถวางไข่ในโรงเพาะฟักได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงที่หอยหวานสามารถวางไข่มากที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม ซึ่งการวางไข่ตลอดทั้งปีของหอยหวานนั้นมีข้อดีคือ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตหอยหวานสนองความต้องการแก่ฟาร์มเลี้ยงหอยหวาน ขนาดตลาดได้ตลอดทั้งปี และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันหอยหวานธรรมชาติในทะเลมีปริมาณที่ลดน้อยลงทุกปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการจับสัตว์น้ำที่ผิดวิธีของชาวบ้าน หรือการจับหอยหวานผิดฤดู ดังนั้น การวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงหอยหวานให้แก่ชาวบ้านแบบครบ วงจร ก็จะช่วยส่งเสริมอาชีพทางเลือกใหม่ให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านได้” ดร.นิลนาจ กล่าว
     
       นับเป็นโครงการที่มีประโยชน์สำหรับชาวประมงพื้นบ้านและผู้ที่สนใจในการ เลี้ยงหอยหวาน ซึ่งนอกจากจะได้เรียนรู้วิธีการเลี้ยงหอยหวานอย่างถูกวิธีแล้ว การใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงยังช่วยให้หอยหวานไม่สูญพันธุ์อีกด้วย
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คุณว่ากษตรมีความสำคัญหรือไม่