แนะนำให้อ่าน

วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปลาไหล

ปลาไหล เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่คนไทยและเทศนิยมบริโภค เป็นปลาที่มีรสชาติดี สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

กินปลาไหลแล้วอายุยืน

เนื้อ ปลาไหลมีวิตามินอีสูง คนญี่ปุ่น จีน และเกาหลี นิยมบริโภค จัดเป็นอาหารที่มีระดับ ราคาแพง ที่คนญี่ปุ่น คนจีน และเกาหลี นิยมสั่งมารับประทานเนื่องในโอกาสพิเศษเท่านั้น เพราะมีความเชื่อว่า บริโภคเนื้อปลาไหลแล้วจะแข็งแรง แก่ช้า และมีอายุยืน เป็นต้น

ปลาไหล ที่คนญี่ปุ่น จีน และเกาหลี นิยมบริโภคนั้นเป็นปลาไหลทะเล ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าAnguilla japonicus ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบทางใต้ของประเทศไทย เช่น สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ระนอง ภูเก็ต กระบี่ และพังงา ในชื่อของ ปลาตูหนา (ภาพที่ 1) ปลาไหลหูดำ ปลาสะแงะ เอียนหู

ปลาไหลชนิดนี้เป็นปลาสองน้ำ ผสมพันธุ์และวางไข่ในทะเล แต่จะเข้ามาเจริญเติบโตในแม่น้ำลำคลอง พบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2469 จับได้จากคลองบางกะปิ กรุงเทพฯ มีความยาวประมาณ 65 เซนติเมตร เมื่อ ปี 2547 หลังจากที่ได้มีการเปิดเขื่อนปากมูน ได้พบปลาตูหนา 2 ตัว ในบริเวณบ้านแสนตอ เข้าใจว่าเป็นปลาจากแม่น้ำโขง และเข้าไปทางแม่น้ำมูล



ปลาไหลน้ำจืด

ปลาไหลน้ำจืดมี หลายชนิด ที่สำคัญและคนไทยส่วนใหญ่รู้จักและนิยมบริโภค ได้แก่ ปลาไหลนา ที่สามารถนำไปปรุงอาหารพื้นบ้านได้หลากหลาย เช่น แกงเผ็ด ต้มยำ ผัดเผ็ด ต้มเปรต เป็นต้น สำหรับคนทางภาคใต้ ขนมจีนน้ำยาปลาไหลจัดว่าเป็นอาหารชั้นดี ที่พี่น้องชาวมุสลิมนิยมทำเลี้ยงแขกในเทศกาลสำคัญทางศาสนา

ปลาไหล นา (ภาพที่ 2) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชื่อ Monopterus albus, Zuiew (1973) ลำตัวด้านหลังมีสีน้ำตาล ท้องมีสีเหลืองทอง มีขนาดโตที่สุดที่พบมีความยาวถึง 1.01 เมตร เป็นปลาไหลที่พบมีอยู่ตามหนอง บึงต่างๆ ทุกภาคของประเทศไทย แม้แต่บนเกาะสมุยฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย หรือบนเกาะศรีอหยา อำเภอเมืองกระบี่ เป็นปลาที่สามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ในดินและน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด สูง (pH ต่ำ) เช่น ในพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ปลาไหลนาเป็นปลาที่สามารถปรับตัวให้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมที่แปรปรวนจาก สภาพปกติได้ เพราะลำไส้ส่วนท้ายได้พัฒนาให้เป็นอวัยวะช่วยในการหายใจ เงือกมีกระดูกหุ้มที่มิดชิด ลำตัวมีเมือกหุ้มมากทำให้ทนทานต่อสภาพความแห้งแล้ง หรือการขาดน้ำได้อย่างดี ฤดูแล้งจะขุดรูอยู่อาศัยลึก 1-1.5 เมตร ชอบออกหากินในเวลากลางคืน

เปลี่ยนเพศได้

ปลา ไหลนา มีวงชีวิตที่แปลกและแตกต่างไปจากปลาน้ำจืดทั่วๆ ไป ก็คือ ปลาไหลในช่วงแรกที่มีขนาดความยาวไม่เกิน 28 เซนติเมตร นั้น จะเป็นปลาไหลเพศเมียทั้งสิ้น แต่เมื่อโต มีความยาวระหว่าง 28-45 เซนติเมตร ปลาไหลจะมีสองเพศในตัวเดียวกัน คือมีทั้งรังไข่ และถุงน้ำเชื้อ ที่สามารถผสมกันเองภายในตัวหรือกับตัวอื่นก็ได้ เมื่อปลาไหลมีอายุมากขึ้น มีความยาวตั้งแต่ 46 เซนติเมตร เซลล์เพศเมียจะเสื่อมสลายไป เหลือแต่เซลล์เพศผู้เท่านั้นที่ยังเจริญและทำหน้าที่สร้างเชื้อตัวผู้ได้ตาม ปกติ ช่วงนี้ช่องเพศจะสีขาวซีดไม่บวม ลำตัวตัวยาวเรียว สีเหลืองคล้ำ


กินอาหารหลากหลาย

ปลา ไหลเป็นปลาที่ชอบกินอาหารที่มีสภาพสดจนถึงเน่าเปื่อย ตัวหนอน ตัวอ่อนแมลง หอย ไส้เดือน และสัตว์หน้าดินต่างๆ มีนิสัยรวมกลุ่มกันกิน


เพาะง่าย

ปลา ไหลนาเพาะได้ทั้งในบ่อดิน หรือบ่อซีเมนต์ ไม่จำกัดขนาดและรูปร่าง เช่น บ่อสี่เหลี่ยม ขนาด 5 x10x1 เมตร (ภาพที่ 3) หรือปลอกซีเมนต์ ก็สามารถนำมาใช้เพาะปลาไหลได้ เพียงแต่จัดระบบนิเวศน์ในบ่อเพาะให้ใกล้เคียงกับปลาตูหนา 2 ตัวนี้พบตามธรรมชาติมากที่สุด ด้วยการใส่ดินเหนียวหนา 30 เซนติเมตร ให้ดินสูงด้านใดด้านหนึ่ง ปลูกพรรณไม้น้ำ ใส่น้ำสูงประมาณ 40 เซนติเมตร ใส่พ่อแม่ ตารางเมตรละ 4 ตัว ให้ปลาสดสับผสมน้ำมันตับปลากินวันละ 1 มื้อ มื้อละ 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำหนักตัว ให้กินตอนเย็น ถ่ายเทน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ปลาไหลจะต้องใช้เวลาปรับตัว 2-4 เดือน เมื่อปลาไหลพร้อมจะผสมพันธุ์ ปลาไหลเพศผู้จะสร้างหวอดไข่สีขาว (ภาพที่ 4) มีช่องว่างอยู่ตรงกลางคล้ายขนมโดนัท ปลาจะเริ่มผสมพันธุ์วางไข่ในตอนใกล้รุ่ง หลังจากก่อหวอด 7-10 วัน ก็รวบรวมลูกปลาไหลขนาดเล็ก นำไปอนุบาลต่อไป


ฤดูวางไข่

ปลา ไหลนาเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน และจะมีความสมบูรณ์สูงสุดในเดือนสิงหาคม ปริมาณความดกของไข่ปลาไหลขึ้นอยู่กับขนาดของปลา เช่น ปลาขนาด 20-60 เซนติเมตร มีไข่ประมาณ 300-400 ฟอง ถ้ายาวกว่า 60 เซนติเมตร จะมีไข่ประมาณ 1,000 ฟอง


การพัฒนาของไข่

ไข่ปลาไหลนาเป็นลักษณะไข่ จมไม่ติดวัสดุ เมื่อสัมผัสจะมีความยืดหยุ่นมาก มีสีเหลืองทองสดใส ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3 เซนติเมตร ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะมีลักษณะกลม สีเหลืองทอง ส่วนไข่ที่ไม่ได้รับการผสมจะมีสีขาวใส ไข่จะใช้เวลาในการฟักประมาณ 3 วัน ลูกปลาเมื่อฟักออกใหม่ๆ มีความยาว 2.5 เซนติเมตร มีถุงไข่แดง 2 ใน 3 ส่วน และมีครีบหู อายุ 5-6 วัน ถุงไข่แดงยุบพร้อมครีบหูหายไป และเริ่มกินอาหารได้ (ภาพที่ 5) อัตราการฟัก 70-80 เปอร์เซ็นต์


การอนุบาลลูกปลา อายุ 7-10 วัน

นำ ลูกปลาวัยอ่อนอายุ 7-10 วัน ที่ฟักออกเป็นตัวไปอนุบาลในกะละมังพลาสติกทรงกลม ปล่อยลูกปลาอัตราความหนาแน่น 350 ตัว ต่อตารางเมตร ใส่น้ำลึก 15 เซนติเมตร ใส่ต้นผักจอกเพื่อให้ลูกปลาเกาะ ควรมีการถ่ายเทน้ำ 2-3 วัน ต่อครั้ง อาหารใช้ไรแดง ให้กินวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เมื่อมีอายุได้ 6 สัปดาห์ จะมีความยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ก็จะกินเนื้อปลาบดได้ พร้อมฝึกให้กินอาหารสมทบ โดยฝึกให้กินอาหารกึ่งเปียกสำเร็จรูป โดยปั้นเป็นก้อนๆ ใช้ระยะเวลา 2 สัปดาห์ ควรมีการคัดขนาดเพื่อช่วยลดการกินกันเองด้วย


การอนุบาลลูกปลา ขนาด 5-10 เซนติเมตร

เมื่อ อนุบาลปลาจนได้ขนาด 5 เซนติเมตร ปลาจะมีขนาดปากที่กว้างขึ้น ลดไรแดง และให้อาหารสมทบวันละ 2 มื้อ เช้า-เย็น โดยปั้นเป็นก้อนเล็กๆ ปรับปริมาณอาหารที่ให้ทุกสัปดาห์เพื่อให้เพียงพอกับจำนวนลูกปลา นอกจากนี้ อาจผสมน้ำมันปลาหมึกเพื่อช่วยดึงดูดลูกปลาให้กินอาหารได้ดีขึ้น และควรมีวัสดุหลบซ่อนโดยใช้ท่อเอสล่อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6/8 นิ้ว ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 20 เซนติเมตร บ่อละ 3-5 ท่อน ลูกปลาค่อนข้างตกใจได้ง่ายถ้ามีเสียงดัง ใช้เวลา 6 สัปดาห์ ก็จะได้ปลาขนาด 10 เซนติเมตร ซึ่งจะมีน้ำหนักประมาณ 1-2 กรัม สามารถแยกลงบ่อเลี้ยงต่อไป


การเลี้ยงปลาไหลในบ่อซีเมนต์หลังบ้าน

ปลา ไหลนาเลี้ยงง่าย ใช้เนื้อที่น้อย สามารถเลี้ยงได้ในบ่อซีเมนต์ ขนาด 2.0x3.0 เมตร และท่อซีเมนต์กลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1.0 เมตร บริเวณหลังบ้านได้ บ่อควรมีท่อระบายน้ำออก ผนังบ่อด้านในควรฉาบให้ลื่น รองพื้นบ่อด้วยฟางประมาณ 30 เซนติเมตร ใส่ดินหนาประมาณ 10เซนติเมตร เพื่อสร้างอาหารธรรมชาติ ในระหว่างที่หมักฟางข้าว ถ้าน้ำเสีย ต้องถ่ายเทน้ำทิ้ง แล้วเติมน้ำใหม่ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เมื่อมีไรแดง หนอนแดง เกิดหนาแน่นแล้ว ก็ปล่อยปลาไหลลงเลี้ยงได้ ปลาที่ปล่อยเลี้ยงในระยะแรก นิยมใช้ปลาขนาด 5.0 นิ้ว (30-40 ตัว ต่อกิโลกรัม) ปล่อยในอัตราความหนาแน่น ประมาณ 100 ตัว ต่อลูกบาศก์เมตร ปลาที่ปล่อยเลี้ยงแต่ละรุ่นควรเป็นปลาให้มีขนาดที่ใกล้เคียงกัน

ระยะ เวลาเลี้ยงประมาณ 6-8 เดือน ในระหว่างที่เลี้ยงควรเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 2 สัปดาห์ เติมฟางข้าวทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้โซ่อาหารธรรมชาติเกิดอย่างต่อเนื่อง อาหารสมทบจะใช้ปลาเป็ด หรืออาหารปลาดุกก็ได้แล้วแต่สะดวก ให้อาหารวันละครั้ง ในปริมาณ 2-3 เปอร์เซ็นต์ ต่อน้ำหนักตัว ควรให้ในในช่วงเย็น หลังจาก 6 เดือน จะได้ปลาขนาด 3-5 ตัว ต่อกิโลกรัม

ถ้าเลี้ยงด้วยอาหารเม็ดปลาดุก เล็ก จะมีอัตราแลกเนื้อ 2.35 ส่วนการเลี้ยงด้วยปลาสดสับ อัตราแลกเนื้อ 7.8 อัตราการรอดตาย 80-90 เปอร์เซ็นต์


โรคและการป้องกัน

ปลา ไหลที่เลี้ยงในบ่อมีปริมาณค่อนข้างหนาแน่น มีการให้อาหาร ถ้าจัดการไม่ดี คุณภาพของน้ำและดินอาจจะเน่าเสีย ปลาที่เลี้ยงอาจติดเชื้อแบคทีเรีย รา ได้ โรคที่พบบ่อย ได้แก่ โรคเป็นแผลตามตัวที่มักพบในปลาขนาดใหญ่ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Aeromonas และ Pseudomonas punctata ปลาที่เป็นโรคจะมีผิวหนังบวมแดง บางตัวผิวหนังจะเปื่อยเป็นแผลลึกลงไปจนเห็นกล้ามเนื้อ

โรคท้องบวม ส่วนใหญ่จะพบในปลาไหลขนาด 10-15 เซนติเมตร ปลาที่เป็นโรค ผิวหนังเป็นรอยช้ำตกเลือดสาเหตุจากสภาพแวดล้อมในบ่อปลาไม่ดี ทำให้ปลาอ่อนแอ

โรคพยาธิ ที่เกิดจากปรสิตเซลล์เดียวในระบบทางเดินอาหาร ปลาที่มีพยาธิในระบบทางเดินอาหารจะไม่กินอาหาร ซูบผอม

การ ป้องกัน : ใช้ยาถ่ายพยาธิชนิดเมโทรนิดาโซล (Metronidasole) ขนาด 250 มิลลิกรัม จำนวน 10-15 เม็ด ผสมอาหาร 1 กิโลกรัม ให้กินติดต่อกัน 3 วัน


ตลาด

ปัจจุบัน ปลาไหลนา เป็นที่นิยมของคนพื้นบ้าน ในตลาดสดท้องถิ่น จะพบว่ามีแม่ค้านำปลาไหลมาวางขายทั้งในรูปปลาไหลนาที่มีชีวิต (ภาพที่ 6 หรือจัดทำความสะอาดให้ (ภาพที่ 7) พร้อมที่นำไปปรุงอาหาร แล้วแต่รสนิยมและความสะดวกของผู้บริโภค ในราคาระหว่าง 70-100 บาท ต่อกิโลกรัม นอกจากคนท้องถิ่นแล้ว ภัตตาคารและร้านอาหารต่างๆ ก็นิยมซื้อไปปรุงอาหารสำหรับลูกค้าขาประจำ ที่ชอบบริโภคปลาไหล



ข้อควรระวังในการเลี้ยงปลาไหลนา

1. การรวบรวมพันธุ์ปลาจากธรรมชาติเข้ามาเลี้ยง ควรระมัดระวังในเรื่องการลำเลียง ไม่ควรให้หนาแน่นมากเกินไป ปลาจะบอบช้ำได้

2. ปลาที่เลี้ยงควรเป็นปลาขนาดเดียวกัน เพื่อลดปัญหาการกินกัน โดยเฉพาะปลาอายุต่ำกว่า 2 เดือน

3. อาหารสดที่นำมาเลี้ยงปลา ควรล้างน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วนำมาแช่ด่างทับทิมเข้มข้น 0.05-1.0 เปอร์เซ็นต์ นานประมาณ 10 นาที แล้วล้างน้ำสะอาดอีกครั้งก่อนที่จะนำไปเลี้ยงปลา

4. พื้นบ่ออนุบาลควรฉาบผิวให้เรียบ ป้องกันปลาเป็นแผลถลอกได้

5. ปลาไหลเป็นปลาที่ตกใจง่าย ดังนั้น ในบ่อเลี้ยงควรใส่ฟางข้าวแห้งเพื่อให้ปลาใช้หลบซ่อน และลดความเครียดได้เมื่อมีคนเดินผ่าน หรือทำให้ตกใจ ปลาถ้าตกใจจะไม่กินอาหาร

6. บ่อควรมีร่มเงาบังแสงแดดบ้าง


เอกสารอ้างอิง

สุวรรณ ดี ขวัญเมือง, บุษราคัม หมื่นสา, จีรนันท์ อัจนากิตติ และ สุชาติ รัตนเรืองสี. 2536. การศึกษาเบื้องต้นทางชีววิทยาบางประการ และการทดลองเพาะพันธุ์ปลาไหลนา.เอกสารวิชาการ ฉบับที่ 54/2536. กองประมงน้ำจืด, กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

ศราวุธ เจะโส๊ะ และ สุวรรณดี ขวัญเมือง. 2536. ปลาไหลนา คุณลักษณะด้านชีววิทยาและธุรกิจการเพาะเลี้ยง. เอกสารวิชาการ ฉบับที่ 1/2536. กองประมงน้ำจืด, กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

สุปราณี ชินบุตร, เต็มดวง สมศิริ, พรเลิศ จันทร์รัชชล, สมเกียรติ กาญจนาคาร และ ฐิติพร หลาวประเสริฐ. 2546. เอกสารคำแนะนำ. กรมประมง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

-------------------------------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คุณว่ากษตรมีความสำคัญหรือไม่