แนะนำให้อ่าน

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

กล้วยไม้

ลักษณะทั่วไปของกล้วยไม้

1. ชื่อกล้วยไม้
     การปลูกเลี้ยงกล้วยไม้นั้นพิถีพิถันในเรื่องชื่อของกล้วยไม้แต่ละต้นเป็นพิเศษ ซึ่งต่างไปจากการปลูกพืชชนิดอื่น ๆ นอกจากจะรู้จักชื่อแล้วยังต้องค้นหากันต่อไปว่าเป็นชนิดแท้หรือลูกผสมถ้าเป็นลูกผสมยังต้องสืบเสาะต่อไปว่าอะไร
ผสมกันกับอะไร เช่นสมมุติว่ามีกล้วยไม้ต้นหนึ่งชื่อแวนดารอธไชล์เดียนา(VandaRothschildiana)ซึ่งเป็น
ลูกผสมดอกสีฟ้าก็ต้องทราบต่อไปว่าเป็นลูกผสมระหว่างแวนดาแซนเดอรานากับฟ้ามุ่ย บางทีรู้เท่านี้ยังไม่พอ ต้อง
สืบเสาะต่อไปอีกว่า ฟ้ามุ่ยที่เอามาผสมเป็นฟ้ามุ่ยต้นไหน แซนเดอรานาก็เหมือนกันต้องสืบให้รู้ ทั้งนี้เพราะกล้วยไม้
ก็เหมือนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ถึงแม้จะเป็นกล้วยไม้ชนิดเดียวกันก็มิใช่ว่าจะให้ลูกที่มีคุณลักษณะดีเหมือนกันได้ จึงต้องสืบ
ประวัติอย่างละเอียด

     จากความพิถีพิถันดังกล่าวมานี้ทำให้ผู้ริเริ่มเล่นกล้วยไม้ใหม่ ๆ ชักท้อใจ ด้วยจดจำชื่อของกล้วยไม้ไม่ไหว บาง
ท่านคงนึกประหลาดใจว่า ทำไม่คนที่เล่นกล้วยไม้มานาน ๆ จึงจดจำได้เก่งเรื่องนี้ไม่ใช ่เรื่องแปลกแต่อย่างใดอาศัย
ความคุ้นเคย ความใกล้ชิดผ่านหูผ่านตาบ่อย ๆ ก็จำได้เองยิ่งมีหลักในการจำแนกกล้วยไม้อยู่ในสมองด้วยแล้ว ก็จะ
ช่วยให้จดจำง่ายขึ้น และเลือกจดจำประเภทหรือสกุลที่ตนสนใจเท่านั้น

      การจำแนกกล้วยไม้นั้นเตาจำแนกได้หลายวิธี เช่น จำแนกตามรูปทรง ตามอุณหภูมิที่ต้องการ ตามความนิยม
ของผู้ปลูกเลี้ยงและตามหลักวิชาทางพฤกษศาสตร์ เป็นต้นในที่นี้จะกล่าวเฉพาะการจำแนกประการหลังซึ่งจะ
เป็นหลักในการจดจำชื่อเสียง และสามารถเขียนอ่านได้ถูกต้อง

      พืชมีการจำแนกเป็นชั้นต่ำ ชั้นสูง คือเริ่มจากพืชเซลล์เดียวขึ้นมาเป็นพืชหลายเซลล์ แต่ไม่แตกเป็นรากเป็น
ลำต้น เป็นใบ เช่น พวกเชื้อราต่าง ๆ สูงขึ้นมามี ราก ลำต้น ใบครบ แต่ไม่มีดอก เช่น พวกมอสและเฟิน สูงสุด
คือ พวกพืชมีดอก เช่น ข้าว พริกมะเขือเป็นต้น ในพวกพืชมีดอกก็แบ่งย่อยออกเป็น 2 พวก คือ พวกมีใบเลี้ยงคู่
เช่น ถั่ว มะม่วง พุทรา ผักกาดพวกมีใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ข้าวหญ้า กล้วย ขิง ข่า ตะไคร้ และกล้วยไม้

      การจัดแบ่งนี้ยึดถือหลักการที่ว่าพวกมีลักษณะใกล้เคียงกันก็รวมไว้ในพวกเดียวกัน ถ้ามีลักษณะผิดแผกออก
ไปก็แยกไว้อีกพวกหนึ่ง สำหรับพืชมีดอกนั้นยึดถือดอกเป็นลักษณะสำคัญในการจัดแบ่ง ถ้าจะเปรียบเทียบการ
จำแนกพืชกับสิ่งอื่นแล้ว ก็ขอเทียบกับการจัดแบ่งการปกครองของประเทศไทย
      การจัดแบ่งทั้งสองแบบที่นำมาเปรียบเทียบกันนี้ ถือความใกล้ชิดกันเป็นหลักต่างกันที่ว่าการจัดแบ่งการ
ปกครองใช้ความใกล้ชิดเรื่องที่ตั้ง คือ หลาย ๆ หมู่บ้านอยู่ใกล้กันก็รวมเป็น 1 ตำบล หลาย ๆ ตำบลอยู่ใกล้กัน
ก็รวมเป็น 1 อำเภอ ฯลฯ ส่วนสิ่งมีชีวิตอาศัยความใกล้ชิดกันในเรื่องรูปร่างลักษณะ คือ หลาย ๆ ชนิดที่มีรูปร่างลักษณะคล้ายกันที่รวมไว้ในสกุลเดียวกัน หลาย ๆ สกุลที่คล้ายกันก็รวมไว้ในวงศ์เดียวกัน

      กล้วยไม้ทั้งหมดในโลกนี้จัดรวมไว้ในกระกูลเดียวกัน คือ ตระกูลกล้วยไม้  หรือนิยมเรียกกันว่าวงศ์กล้วยไม้
(Family Orchidaceae)พืชในวงศ์กล้วยไม้ทั้งหมดจำแนกออกได้ประมาณ 650 สกุล แต่มีที่มนุษย์สนใจ
นำมาปลูกเลี้ยงแลผสมพันธุ์ผลิตลูกผสม 170 สกุลเท่านั้น ในจำนวนนี้มีการนำมาผสมข้ามสกุลกันประมาณ
150 สกุล มีสกุลใหม่ที่เกิดจากการผสมข้ามสกุลประมาณ 550 สกุล

     กล้วยไม้สกุลต่างๆ ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยมีดังนี้

1) กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบฐานร่วม (sympodial growth)
ชื่อไทย
ชื่อทางพฤกษศาสตร์
ชื่อย่อ
คำอ่านอักษรไทย
1. รองเท้านารีPaphiopedilumPaph.พาฟิโอเพดิลัม
2. หวายDendrobiumDen.ด็นโดรเบียม
3. ซิมบิเดียมCymbidiumCym.เซิมบิเดียม
4. ออนซิเดียมOncidiumOnc.ออนซิเดียม
5. คัทลียาCattleyaC.คัทลียา

2) กล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว (Monopodial growth)

ชื่อไทย
ชื่อทางพฤกษศาสตร์
ชื่อย่อ
คำอ่านอักษรไทย
6. กุหลาบAeridesAer.แอริดิส
7. ช้างRhynchostylisRhy.ริงโคสไตลิส
8. แมลงปอArachnisArach.อแรคนิส
9. รีแนนเธอราRenantheraRen.รีแนนเธอรา
10. ฟาแลนอปซิสPhalaenopsisPhal.ฟาแลนอปซิส
11. ม้าวิ่งDoritisDor.โดไรติส
12. เข็มAscocentrumAsctm.แอสโคเซ็นตรัม
13. แวนดาVandaV.แวนดา
14. แวนดอปซิสVandopsisVaps.แวนดอปซิส
      ในแต่ละสกุลที่กล่าวมานี้แบ่งย่อยออกเป็นชนิด เช่น สกุลเข็ม ที่พบในประเทศไทยและมีความสวยงาม มี 3 ชนิด
คือเข็มม่วง (Ascocentrum ampullaceum) เข็มแดง (Ascocentrum curvifolium) และเข็มแสด
(Ascocentrum miniatum)

      โปรดสังเกตการเขียนชื่อวิทยาศาสตร์กล้วยไม้ ซึ่งใช้หลักการเดียวกันกับการเขียนชื่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ คือ นำหน้า
ด้วยชื่อสกุล และตามด้วยชื่อชนิด ชื่อสกุลเขียนขึ้นต้นด้วยอักษรตัวใหญ่ 
      ชื่อชนิดเขียนขึ้นต้นด้วยอักษรตัวเล็ก เพื่อให้ง่ายแก่การสังเกต ถ้าพิมพ์กำหนดให้ใช้ตัวเอน ถ้าเขียนให้ขีด
เส้นใต้ ที่กล่าวนี้เป็นกฏเกณฑ์สำหรับกล้วยไม้ชนิดแท้เท่านั้น นอกจากนั้นแล้วท้ายชื่อชนิดจะมีชื่อนักวิทยาศาสตร์
ผู้ตั้งชื่อกล้วยไม้ชนิดนั้น ๆ กำกับไว้ด้วย เช่น Aerides krabinse Seidenf.คำแรกเป็นชื่อสกุลอ่านว่า แอริดิส
คำถัดมาเป็นขื่อชนิดอ่านว่า กระบี่เอนเซ คำสุดท้ายเป็นชื่อย่อของ ฯพณฯ ไซเดนฟาเดน ผู้ตั้งชื่อกระบี่เอนเซ
ชื่อเต็มของท่านคือ Gunnar Seidenfaden อดีตเอกอัครราชทูตเดนมาร์กประจำประเทศไทย           ซึ่งเป็น
นักพฤกษศาสตร์ที่มีความสามารถเป็นเยี่ยม

      การมีชื่อผู้ตั้งชื่อกล้วยไม้นั้น ๆ กำกับไว้ด้วย ก็เพื่อป้องกันการสับสนเพราะมีกล้วยไม้บางชนิดมีคนตั้งชื่อไว้หลาย
ชื่อ แล้วนักพฤกษศาสตร์ก็ยังหาข้อยุติไม้ได้ว่าจะเลือกใช้ชื่อใด เมื่อมีชื่อผู้ตั้งเขียนกำกับไว้ด้วย ก็จะลดความสับสนลง
ไปได้มาก ชื่อคนตั้งท้ายชื่อกล้วยไม้นี้เมื่อเขียนไม้ต้องขีดเน้นใต้ เมื่อพิมพ์ให้ใช้ตัวตรงธรรมดาไม่ต้องใช้ตัวเอน

     สำหรับ ผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ทั่ว ๆ ไป เมื่อเขียนชื่อกล้วยไม้จะไม่เขียนชื่อผู้ตั้งเอาไว้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการเขียนเอกสาร
ทางวิชาการเกี่ยวกับกล้วยไม้ชนิดนั้น ๆ โดยตรง ขอแนะนำให้เขียนกำกับไว้ด้วยจะดูน่าเชื่อถือกว่า และไม่สับสน

    สำหรับกล้วยไม้ลูกผสม ไม่มีชื่อชนิด (specific name) แต่จะมีชื่อลูกผสม (grex name)มาแทนและให้เขียนขึ้นต้นด้วย
ตัวใหญ่เช่นเดียวกับชื่อสกุลและไม่ต้องขีดเส้นใต้ หรือพิมพ์ด้วยตัวเอน เช่นตัวอย่างในกรอบข้างล่าง
Vanda Rothschildiana
ลูกผสมระหว่าง
Vanda sanderana x Vandacoerulea
Vanda Rose Davis
ลูกผสมระหว่าง
Vanda Rothschidiana x Vandacoerulea
Ascocentrum Sagarik Gold
- เข็มสาคริก
ลูกผสมระหว่าง
Ascocentrum miniatum - เข็มแสด x Ascocentrum curvifolium - เข็มแดง
     การเขียนชื่อพ่อแม่ให้เขียนชื่อแม่ (ต้นที่ถือฝัก) ไว้หน้า ตามท้ายด้วยชื่อพ่อ (ต้นที่เอาก้อนเรณูมาผสม)กฎเกณ์
ข้อนี้ไม่สู่เคร่งครัดนักในทางปฏิบัติแต่เมื่อทราบกฎแล้วก็ควรจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

     ในการตั้งชื่อกล้วยไม้ลูกผสมนั้น มิใช่ว่าจะตั้งกันขึ้นได้ลอย ๆ จำเป็นจะต้องขอจดทะเบียนชื่อไปที่ราชสมาคม
พืชสวนณ ประเทศอังกฤษ (The Royal Horticultural Society, The International Orchid
Registrar, PO Box 1072, Frome, Somerset BA11 5NY, England) ซึ่งวงการกล้วยไม้สากลยก
ให้เป็นสถาบันในการจดทะเบียนตั้งชื่อกล้วยไม้ลูกผสมทั่วโลก สำหรับประเทศไทยอาจขอให้สมาคมกล้วยไม้แห่ง
ประเทศไทยในพระบรม-ราชูปถัมภ์ ช่วยส่งไปจดทะเบียนให้ได้ กล้วยไม้ที่จะขอจดทะเบียนตั้งชื่อนั้นต้องมีคุณ
สมบัติและองค์ประกอบดังนี้

(1) รู้ชื่อพ่อ แม่ที่แน่นอน

(2) ถ้าพ่อหรือแม่หรือทั้ง 2 ฝ่าย เป็นพันธุ์ผสม จะต้องมีชื่อที่จดทะเบียนแล้วจึงจะขอจดทะเบียนชื่อลูกได้

(3) ต้องเป็นคู่ผสม ซึ่งไม่มีใครขอจดทะเบียนมาก่อน สมมุติว่ามีผู้เอากล้วยไม้ ก. ผสมกับ ข. ได้ขอจดทะเบียนตั้งชื่อ
เอาไว้แล้วว่า "ทีวี" ถ้าเราเอา ก. ผสม ข. อีก ลูกที่ได้ก็ต้องชื่อ "ทีวี" จะขอจดทะเบียนช้ำอีกไม่ได้ ลูกผสมในสกุลเดียว
กัน จะตั้งชื่อช้ำกันไม่ได้ เช่น ก+ข จดทะเบียนว่า "ทีวี" เราเอา ก+ง จะขอจดทะเบียนว่า "ทีวี" ช้ำอีกไม่ได้ เว้นแต่ง
จะเป็นสกุลที่แตกต่างไปจาก ข

(4) จะขอจดทะเบียนตั้งชื่อได้ต่อเมื่อปลูกเลี้ยงไว้จนกล้วยไม้ออกดอกแล้ว ผู้ผสมพันธุ์เป็นผู้ขอจดทะเบียน ถ้าผู้อื่น
ขอจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ผสมพันธุ์ก่อน

      จากที่กล่าวมานี้ก็พอจะมองเห็นได้ถึงความพิถีพิถันในเรื่องของชื่อกล้วยไม้ยิ่งกว่าการตั้งชื่อคนเสียอีก


ข้อควรพิจารณาในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ มีดังนี้

(1) เวลาผสมกล้วยไม้ต้องจดชื่อพ่อ แม่ ให้ถูกต้อง อาจเป็นไปได้ที่ดอกที่เราผสมนั้นถูกแมลงมาช่วยผสมเกสร
ไว้ก่อนแล้ว หรือดอกที่ผสมร่วงหลุดไป แต่มีดอกอื่น ๆ ในช่อเดียวกันติดฝักขึ้นมาเพราะแมลง อาจเข้าใจผิดคิด
ว่าเป็นฝักฝีมือตนเองผสม เทคนิคการผูกป้ายที่ดอกผสมจึงนับว่าสำคัญมาก

(2) กล้วยไม้ในขวดเพาะ ในกระถางหมู่และกระถางเจี๊ยบ จะต้องมีป้ายชื่อกำกับไว้เสมอ

(3) กล้วยไม้ในกระถาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระถางหมู่ นอกจากติดป้ายชื่อแล้ว ควรเขียนชื่อหรือรหัสที่
กระถางด้วย เพราะมักปรากฏบ่อย ๆ ที่ติดเฉพาะป้าย เมื่ออยากรู้ชื่อหยิบป้ายขึ้นมาดูเสร็จแล้วก็ปักลงไปใหม่
แต่ไม่ได้ปักลงในกระถางเดิม ทำให้ชื่อสับสนกัน


2. ส่วนต่าง ๆ ของกล้วยไม้

1) ลำต้น
    ลำต้นของกล้วยไม้ประกอบด้วยส่วนที่เป็น "ข้อ" (node) และส่วนที่อยู่ระหว่างข้อเรียกว่า "ปล้อง"
(internode) ส่วนที่เป็นข้ออาจเป็นที่เกิดของใบ หรือกาบใบ (leaf sheath) เหนือส่วนที่เป็นข้อและอย
ู่ติดกับข้อจะเป็นที่เกิดของ "ตา" (bud) ซึ่งตานี้อาจจะเจริญเติบโตเป็นหน่ออ่อน กิ่งอ่อน หรือช่อดอกก็ได้
ลักษณะลำต้นของกล้วยไม้มีอยู่ 2 แบบ คือ

(1) ลำต้นปกติ มีข้อ มีปล้อง และมีการเจริญเติบโตทางส่วนยอดตั้งขึ้นไปไม่มีขีดจำกัดกล้วยไม้ที่มีลำต้น
ลักษณะเช่นนี้เรียกว่ากล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบฐานเดี่ยว (monopodial)

(2) ลำต้นทอดตัวนอนราบ เป็นลักษณะลำต้นที่แปรสภาพผิดแปลกไปจากลักษณะของลำต้นปกติ คือทอด
ตัวนอนราบไปตามสิ่งซึ่งกล้วยไม้นั้นเกาะอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแนวราบหรือแนวตั้ง ลำต้นที่แปรสภาพนี้มี
ข้อ มีปล้องและมีตา ซึ่งสามารถจะงอกเป็นหน่ออ่อนได้เหมือนลำต้นปกติ โดยมีส่วนที่แตกหน่อเป็นส่วนยอด
ลำต้นแบบนี้เรียกว่า "เหง้า" (rhizome) หน่อที่แตกออกมาจากเหง้าจะเป็นก้านใบ กล้วยไม้หลายสกุลมีก้าน
ใบที่อวบอ้วน เป็นที่เก็บน้ำและอาหาร เราเรียกส่วนนี้ว่าลำลูกกล้วย (pseudobulb) และลำลูกกล้วยนี้มีข้อ
มีตา แตกเป็นหน่อเกิดเป็นเหล้าเจริญเติบโตต่อไปอีกก็ได้ ที่ส่วนปลายของลำลูกกล้วยอาจมีใบเพียงใบเดียว
หรืออาจจะมีหลาย ๆ ใบออกจากข้อ ข้อละใบก็ได้ แต่เมื่อลำลูกกล้วยเจริญจนกระทั่งแผ่ขยายเต็มที่ หรือ
ออกดอกแล้วก็จะไม่เจริญเติบโตต่อไปอีก เหง้าก็จะสร่างหน่อใหม่เกิดก้านใบใหม่ขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เราเรียกกล้วยไม้ที่มีลำต้นลักษณะเช่นนี้ว่ากล้วยไม้ที่มีการเจริญเติบโตแบบฐานร่วม (sympodial) เหง้า
ของกล้วยไม้บางชนิดมีปล้องยาว ทำให้ลำลูกกล้วยอยู่ห่างกัน แต่บางชนิดมีปล้องสั้นทำให้ลำลูกกล้วยอยู่ชิด
กัน ลำลูกกล้วยของกล้วยไม้แต่ละชนิดอาจมีรูปร่าง ลักษณะ และขนาดแตกต่างกัน
     นอกจากลำต้นของกล้วยไม้บางชนิดที่เปลี่ยนรูปจากลำต้นปกติเป็นเหง้าแล้ว ยังมีลำต้นของกล้วยไม้ ที่
เปลี่ยนรูปเป็นหัวอยู่ในดิน ได้แก่ กล้วยไม้ดินบางชนิด2) ใบ
    ใบทำหน้าที่ปรุงอาหารโดยการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) และทำหน้าที่คายน้ำออกทาง
ปากใบ (stomata) เพื่อช่วยให้รากสามารถดูดน้ำและแร่ธาตุต่าง ๆ เข้าสู่ต้นกล้วยไม้ เป็นการแทนที่น้ำที่
คายออกเช่นเดียวกับพืชทั่วไป

(1) รูปร่าง ใบกล้วยไม้มีรูปร่าง ลักษณะ ขนาด สี และการทรงตัวตามธรรมชาติแตกต่างกันไปตามสกุลหรือ
ชนิดของกล้วยไม้นั้นรูปร่างลักษณะใบกล้วยไม้ มีทั้งลักษณะใบแบน เช่น กล้วยไม้สกุลช้าง ใบรูปทรงกระบอก
เช่น เอื้องโมกข์ และใบเป็นร่องรูปตัววี เช่น กล้วยไม้สกุลเข็มกล้วยไม้ทั่วไปมีใบหนาและอวบน้ำ แต่บางชนิดมี
ใบแบบบาง เช่น กล้วยไม้ดินบางชนิด หรือใบเป็นจีบ หรือใบเป็นจีบ เช่น เอื้องพร้าว (Phaius grandifolius)
กล้วยไม้บางชนิดมีใบป้อมสั้น เช่น กล้วยไม้สกุลสิงโตกลอกตาบางพันธุ์ และกล้วยไม้บางชนิดก็มีใบยาวเรียว
เช่น กล้วยไม้สกุลชิมบิเดียม หรือสกุลกาเรการ่อน

(2) ขนาด ขนาดของใบกล้วยไม้มีต่าง ๆ กัน ที่มีขนาดเล็กมากประมาณว่าโตกว่าหัวเข็มหมุดเพียงเล็กน้อย ได้แก่
ใบของกล้วยไม้พญาไร้ใบ (Anoectochilus siamensis)

(3) สี สีของใบกล้วยไม้ส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียว บางชนิดเป็นสีม่วงคล้ำ บางชนิดก็มีลวดลายสวยงาม เช่น กล้วยไม้
ที่มีชื่อว่าว่านร่อนทอง (Anoectochilus sismensis)

(4) การทรงตัวตามธรรมชาติ กล้วยไม้บางชนิดมีใบตั้งขึ้น เช่น กล้วยไม้สกุลคัทลียา บางชนิดมีปลายใบโค้งลง
เช่น กล้วยไม้สกุลแวนดา และบางชนิดมีใบห้อยลงมาข้างล่าง เช่น เอื้องหนวดพราหมณ์ (Seidenfadenia
mitrata)

(5) ก้านใบ ใบกล้วยไม้ส่วนมากจะไม่มีส่วนที่เป็นก้านใบปรากฏให้เห็นชัดเจน เส้นใบจะขนานกันไปตามความยาว
ของใบ ซึ่งเป็นลักษณะของพืชจำพวกใบเลี้ยงเดี่ยว เส้นใบเหล่านี้อาจจะเห็นได้ชัดเจนในใบกล้วยไม้บางชนิด แต่ใบ
กล้วยไม้บางชนิดก็เห็นเส้นใบไม่ชัดเจน

(6) กาบใบ คือ ส่วนที่เป็นแผ่นบาง ๆ เชื่อมติดต่อระหว่างโคนใบกับข้อของลำต้น ทำหน้าที่คล้ายกับก้านใบ
กล้วยไม้ประเภทฐานร่วมบางสกุล เช่น สกุลคัทลียาไม่มีกาบใบ

3) ราก
     ทำหน้าที่ดูดน้ำ แต่ธาตุต่าง ๆ ที่ละลายอยู่ในน้ำเข้าไปในต้นและทำหน้าที่เกาะยึดเพื่อให้ต้นกล้วยไม้ทรงตัว
อยู่ได้ ระบบรากของกล้วยไม้แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ

(1) รากดิน เกิดจากหัวอยู่ใต้ดิน รากเหล่านี้จะอยู่ในดินโดยตลอด ตัวรากมีน้ำมาก ได้แก่ รากของกล้วยไม้ดิน
ชนิดต่าง ๆ

(2) รากกึ่งดิน
 รากประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับใบไม้ผุ ซึ่งมีสัณฐานร่วนและโปร่งกว่าดินธรรมดา รากมิได้เจาะลึกลง
ไปในดินโดยตรง ตัวรากอวบน้ำ ได้แก่ รากของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารี

(3) รากกึ่งอากาศ
 เป็นรากที่มีขอนาดค่อนข้างเล็ก มีแขนงรากหนาแน่น รากส่วนใหญ่จะชอนไชอยู่ในเครื่องปลูก
หรือในซอกเปลือกไม้ที่กล้วยไม้นั้นเกาะอาศัยอยู่ มีเพียงส่วนน้อยที่โผล่ยื่นออกมารับอากาศและแสงสว่างกล้วยไม้
ที่มีระบบรากประเภทนี้ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลคัทลียา สกุลหวาย เป็นต้น

(4) รากอากาศ
 รากประเภทนี้มีขนาดใหญ่ แขนงรากใหญ่ เป็นรากอากาศแท้ มีรากบางส่วนที่ยึดเกาะอยู่กับเครื่อง
ปลูกหรือต้นไม้ แต่อีกบางส่วนจะงอกยื่นออกไปในอากาศ ปลายรากสด ๆ จะพบว่ามีสีเขียว ซึ่งแสดงว่ารากประเภท
นี้สามารถปรุงอาหารด้วยวิธีสังเคราะห์ด้วยแสงได้ กล้วยไม้ที่มีระบบรากเป็นรากอากาศ ได้แก่ กล้วยไม้สกุลแวนดา
สกุลช้าง สกุลกุหลาบ เป็นต้น


4) ช่อดอก (inflorescence)
    กล้วยไม้มีช่อดอกที่แตกต่างกันออกไป อาจเป็นช่อดอกที่มีดอกเพียงดอกเดียว หรือหลายดอก ลักษณะของช่อดอก
อาจเป็นช่อที่ไม่แตกแขนงหรือแตกแขนงออกไป

(1) ส่วนประกอบของช่อดอก ที่สำคัญมีดังนี้
- ดอก
- ก้านดอก (pedicel) คือ ก้านที่มีดอกเพียงดอกเดียว
- ก้านช่อ (scape หรือ peduncle) คือ ส่วนของก้านที่อยู่ใต้ดอกล่างสุดลงมาถึงโคนก้านที่อยู่ติดกับลำต้นหรือ
   ลำลูกกล้วย ก้านช่อของกล้วยไม้มีขนาดทั้งสั้นและยาว

(2) ลักษณะการทรงตัวตามธรรมชาติของช่อดอกกล้วยไม้   มี 4 แบบ คือ
- แบบตั้งตรง เช่น กล้วยไม้เข็มแสด (Ascocentrum miniatum)
- แบบตั้งโค้ง เช่น กล้วยไม้สกุลหวายบางชนิด
- แบบค่อนข้างนอนขนานกับพื้น เช่น กล้วยไม้ลิ้นกระบือ (Vandopsis parishii)
- แบบห้อยลง เช่น กล้วยไม้ไอเรศ (Rhynchostylis retusa)


5) ดอก
     ดอกมีหน้าที่ในการสืบพันธุ์ดอกกล้วยไม้เป็นดอกที่สมบูรณ์เพศ คือมีเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน
ดอกกล้วยไม้มีส่วนต่าง ๆ ที่สำคัญดังต่อไปนี้

(1) กลีบดอก กล้วยไม้มีกลีบดอกอยู่ 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น กลีบชั้นนอกเรียกว่ากลีบนอก (sepais) มี 3 กลีบ
กลีบชั้นในเรียกว่ากลีบใน (petais) มี 3 กลีบ
     กลีบนอก 1 กลีบซึ่งอยู่ด้านบนของดอกมีลักษณะค่อนข้างจะแตกต่างออกไปจากกลีบนอกอีก 2 กลีบ เรา
เรียกกลีบนอกที่อยู่ด้านบนนั้นว่า "กลีบนอกบน" (dorsal sepal) และกลีบนอก 2 กลีบซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน
อยู่ค่อนลงมาทางส่วนล่างของดอกข้างละกลีบ เรียกว่า "กลีบนอกคู่ล่าง" (lateral sepal) ส่วนโคนของกลีบ
นอกคู่ล่างเชื่อมติดกันตรงหลังของฐานเส้าเกสร ในกล้วยไม้บางสกุล เช่น สกุลหวาย ส่วนที่เชื่อมติดกันนี้จะยื่น
ออกไปทางด้านหลังของดอก มีลักษณะคล้ายเดือย จึงเรียกว่า "เดือยดอก" (mintum)
     สำหรับกลีบใน 3 กลีบนั้น จะมีอยู่ 2 กลีบที่มีลักษณะเหมือนกัน อยู่ทางด้านบนของดอก ข้างละกลีบ ส่วนอีก
1 กลีบซึ่งอยู่ด้านล่างของดอกจะมีรูปร่าง ลักษณะ สี และขนาดผิดแปลกออกไปจากกลีบใน 2 กลีบดังกล่าวแล้ว
อย่างมากมาย เราเรียกชื่อกลีบในกลีบนั้นว่า "ปาก" หรือ "กระเป๋า" (lip หรือ labellum)กลีบนอก กลีบใน
และกระเป๋าของกล้วยไม้แต่ละชนิดจะมีรูปร่างลักษณะและสีผิดแผกแตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้าง

(2) เส้าเกสร (column) เส้าเกสรเป็นส่วนหนึ่งของดอกกล้วยไม้ซึ่งในดอกไม้ชนิดอื่นไม่มี เส้าเกสรเกิดจากการ
รวมตัวของก้านเกสรตัวผู้ (filament) กับก้านของยอดเกสรตัวเมีย (style) เป็นก้านเดียวกัน มีลักษณะเป็น
เดือยยื่นออกมาจากกลางดอก โคนของเส้าเกสรจะติดต่อกับก้านดอก ซึ่งก้านดอกนี้คือที่ตั้งของรังไข่ (ovary)
ขนาดของเส้าเกสรมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วยไม้ปลายของเส้าเกสรมีลักษณะเป็นจงอย มีอับเกสร
ตัวผู้หรืออับเรณู (anther) อยู่ข้างบน ใต้จงอยจะมีแอ่งอยู่ทางด้านหน้าของเส้าเกสรแอ่งนี้คือยอด เกสรตัวเมีย
ซึ่งมีลักษณะเป็นน้ำเมือกเหนียวสำหรับรับรองการผสมพันธุ์จากเกสรตัวผู้กับเกสรตัวเมีย เรียกว่า "โรสเทลลัม"
(rostellnm)

(3) เกสรตัวผู้ ประกอบด้วยอับเรณู ซึ่งภายในอับเรณูจะมีละอองเกสรตัวผู้ หรือเรียกว่า "เรณู" (pollen)
จับตัวรวมกันอยู่ กล้วยไม้ส่วนใหญ่เรณูจะรวมตัวเป็นก้อนแข็ง เช่น กล้วยไม้สกุลแวนดา สกุลช้าง เป็นต้น แต่
กล้วยไม้บางชนิดเรณูจะรวมกลุ่มติดกันมีสภาพคล้ายขี้ผึ้งอ่อน ๆ ไม่เป็นก้อนแข็ง ได้แก่ กล้วยไม้สกุลรองเท้า
นารี เรณูของกล้วยไม้ที่รวมกลุ่มกันเป็นก้อนแข็งหรือเป็นกลุ่มคลายขี้ผึ้งอ่อน ๆ เราเรียกว่า "กลุ่มเรณู" (pollinia)
กลุ่มเรณูของกล้วยไม้บางชนิดจะมีฝาครอบเพื่อป้องกันอันตราย เราเรียกฝาครอบนั้นว่า "ฝาอับเรณู" (anther
cap หรือ operculum)

(4) ก้านดอก เป็นส่วนที่ติดอยู่กับโคนกลีบดอก และเชื่อมต่อกับโคนเส้าเกสร ส่วนของก้านดอกที่อยู่ใกล้กับ
โคนกลีบดอกจะมีขนาดใหญ่กว่าก้านดอกส่วนที่อยู่ถัดไป ส่วนของก้านดอกที่ใหญ่กว่านั้นเป็นที่อยู่ของรังไข่
ภายในรังไข่จะมีไข่ (ovule) เป็นเม็ดเล็ก ๆ มากมาย เมื่อไข่เหล่านี้ได้รับการผสมพันธุ์จะเจริญเติบโตเป็นเมล็ด


คุณค่าของกล้วยไม้ไทยสกุลต่าง ๆ

กล้วยไม้ไทยสกุลต่าง ๆ มีคุณค่าหลายประการด้วยกัน ดังนี้

1. คุณค่าด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี คนไทยมักนิยมใช้กล้วยไม้ในการประดับประดา
ที่พักอาศัย วัดวาอาราม โดยผูกมัดต้นที่มีดอกไว้ตามจุดต่าง ๆ ของบ้าน ปะรำ หรือเพิงพัก รวมทั้งประดับ
ประดาตามต้นไม้ใหญ่บริเวณที่พัก เช่น กล้วยไม้สกุลช้าง และสกุลกุหลาบ ซึ่งเสน่ห์ของกล้วยไม้สกุลกุหลาบ
อยู่ตรงที่ออกดอกเป็นพวง ห้อยระย้า และบางชนิดยังมีกลิ่นหอมอีกด้วยลักษณะช่อดอกเป็นพวงนั้นมองด
ูคล้ายกับพวงมาลัยดอกไม้สด ต่างกันตรงที่พวงมาลัยเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น แต่ช่อดอกกล้วยไม้เป็น
การสร้างสรรค์ของธรรมชาติ ด้วยความสวยงามอันโดดเด่นจึงมีผู้นำดอกกล้วยไม้สกุลกุหลาบไปผสม
พันธุ์และเพาะเลี้ยง รวมทั้งตั้งชื่อเพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้ที่ตนรักหรือเคารพนับถือเป็นพิเศษ เช่น กุหลาบผุสดี
กุหลาบจำปาทอง เป็นต้น
     สำหรับดอกกล้วยไม้สกุลช้างนั้น สมาคมกล้วยไม้เชียงใหม่ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้เคยจัดสวนกล้วยไม
้ ประกอบด้วยกล้วยไม้ช้างแดง ช้างเผือก และช้างกระ จำนวนนับร้อย ๆ ต้น รับเสด็จพระราชอาคันตุกะ
เพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ กับเป็น
การแสดงถึงวัฒนธรรมที่ดีของไทยให้ชาวต่างประเทศได้เห็น ณ อาคารสันทนาการ คณะแพทย์ศาสตร์
มหาวิทยาลัย เชียงใหม่
     นอกจากนี้แล้ว ในงานเทศกาลประเพณีต่าง ๆ จะพบว่ามีผู้นำเอาดอกกล้วยไม้ไปใช้เป็นเครื่อง ประดับ
ตามร่างกาย เช่น ผม เสื้อผ้า หรือนำไปถวายเป็นพุทธบูชา เป็นของเยี่ยมคารวะแด่ผู้อาวุโสและผู้ที่เคารพ
นับถือ ซึ่งอาจจะเป็นกล้วยไม้ชนิดหนึ่งหรือหลายชนิด รวมทั้งกล้วยไม้สกุลสิงห์โตกลอกตา ซึ่งเป็น
กล้วยไม้สกุลใหญ่สกุลหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักด้วยก็ได้

2. คุณค่าต้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ กล้วยไม้มีแหล่งกำเนิดในป่า ต้นไม้
ใหญ่ในป่าเป็นที่เกาะอาศัยของกล้วยไม้นานาพันธุ์ ด้ามองเข้าไปในป่าจะพบว่ามีกล้วยไม้มากมายหลาย
ชนิด ทั้งมีดอกขนาดเล็ก ดอกขนาดใหญ่ สวยมาก สวยน้อย มีกลิ่นหอม ไม่มีกลิ่นหอม ตัวอย่างเช่น
     กล้วยไม้สกุลกุหลาบจะมีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้พบเห็นเป็นพิเศษด้วยขนาดค่อนข้างใหญ่ ออกดอกเป็นช่อ
ห้อยระย้าอยู่ตามกิ่ง ตามคบไม้ เหมือนประติมากรบรรจงแต่งไว้ นอกจากนี้ อีกหล่ายชนิดยังมีกลิ่นหอม
รัญจวนใจอีกด้วย
     กล้วยไม้สกุลช้าง มีเสน่ห์ดึงดูดใจผู้พบเห็นด้วยลักษณะดอกที่เป็นช่อ บางชนิดห้อยย้อย
บางชนิดชูตั้ง มีสีสันสวยงาม เกาะอยู่ตามกิ่งตามคบไม้บางชนิดมีกลิ่นหอมอีกด้วย
     กล้วยไม้สกุลเข็มลักษณะใบเขียวสดเรียงซ้อนทับกัน ดอกเป็นช่อชูตั้ง รูปทรงกระบอก สีสันสดใส
ต้นละหลายช่อ ช่อละหลายดอก เกาะอยู่ตามกิ่งตามคบไม้ ก็เป็นเสน่ห์ดึงดูดใจอีกแบบหนึ่ง

     ความสวยงามอย่างหลากหลายของกล้วยไม้นานาพันธุ์เหล่านี้ ช่วยเพิ่มเสน่ห์และสีสันให้แก่ป่าเป็น
อย่างมาก ดังนั้น ป่าไม้นอกจากเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศแล้ว ยังมีความงดงาม
ของพืชพันธุ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ายิ่งของประเทศแล้ว ยังมีความงดงามของพืชพันธุ์ไม้นานา
ชนิด รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย เราจึงต้องร่วมมือกันปกป้องพิทักษ์ป่าให้คงอยู่ กล้วยไม้ที่มีแหล่งกำเนิดอยู่
ตามป่าก็จะเจริญงอกงามอยู่ได้ การตัดไม้ทำลายป่าการเผาป่า การเก็บกล้วยไม้ออกจากป่าจำนวนมาก ๆ
นอกจากเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่ายิ่งแล้ว ยังรวมถึงการทำลายพืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ
ในป่ารวมทั้งกล้วยไม้ด้วย
     นอกจากนี้แล้ว แม้ว่าในปัจจุบันเราจะสามารถผสมพันธุ์กล้วยไม้ได้ต่างไปจากพันธุ์แท้มากเพียงใด
ก็ตามก็ยังจำเป็นต้องสงวนพันธุ์แท้ไว้ให้มีโอกาสเจริญงอกงามตามธรรมชาติได้อย่างเหมาะสม เพื่อ
เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและผสมพันธุ์แปลก ๆ ใหม่ ๆ ต่อไปด้วย เช่นนี้จึงเป็นอุบายที่ทำให้รู้จักรักษา
และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืนได้

3. คุณค่าด้านการพัฒนาตนเองและสังคม การสร้างความนิยมในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้
สกุลต่าง ๆ เช่น สกุลช้าง กุหลาบ สิงห์โตกลอกตา และเข็ม ฯลฯ ให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทย จะนำไปสู่
การปรับปรุงพันธุ์ การคัดเลือกพันธุ์ตลอดจนการผสมพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ทำให้มีความสวยสดงดงามมาก
ขึ้น ตัวอย่างเช่น

     ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ผู้ผสมพันธุ์กล้วยไม้สกุลช้าง คือ ช้างแดง ได้เป็นผลสำเร็จ สร้างชื่อ
เสียงเกียรติคุณให้แก่ประเทศไทยสู่วงการกล้วยไม้ทั่วโลกเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากกล้วยไม้สกุล
ช้างพันธุ์แท้แล้ว กล้วยไม้ลูกผสมสกุลช้างอีกหลายชนิดก็มีชื่อเสียงไปทั่วเช่นกัน กล้วยไม้รุ่นใหม่ ๆ
จะมีความสวยงามกว่าบรรพบุรุษ ก่อให้เกิดความรักความหวงแหน และความภาคภูมิใจในกล้วยไม้
ไทยขึ้นในจิตสำนึกนักกล้วยไม้ในประเทศไทยจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับ
กล้วยไม้ หากผู้ใดมีกล้วยไม้ออกดอกสวย ๆ แปลก ๆ ปลูกในภาชนะที่เคลื่อนย้ายได้ ก็มักจะนำมา
อวดประกวดกัน สร้างความสนิทสนมและความสนุกสนานเพลิดเพลินการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ด้วยใจรัก
ด้วยการศึกษาหาความรู้ และนำมาใช้อย่างพอเหมาะพอสม ไม่ลุ่มหลงในการสร้างมูลค่าของกล้วยไม้
ไม่ปิดบังความรู้ได้มาจากการศึกษาค้นคว้าของตน นี้เองที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ในแง่นี้
กล้วยไม้จึงเป็นสื่อในการพัฒนาทั้งตนเองและสังคมไปพร้อมกัน

4. คุณค่าด้านเศรษฐกิจ ได้แก่

1) ความนิยม ความนิยมปลูกกล้วยไม้สกุลกุหลาบยังมีน้อยสาเหตุน่าจะมาจากเป็นกล้วยไม้ที่มีช่อดอก
ห้อย ดอกจะสวยเมื่อติดอยู่กับต้นการตัดดอกไม่น่าจะเหมาะสม หากส่งเสริมโดยมุ่งในด้านเป็นไม้ดอก
ติดต้นมากกว่าตัดดอกน่าจะได้รับความนิยมมากขึ้น สำหรับกล้วยไม้สกุลช้างนั้น เนื่องจากลักษณะดอก
จะเป็นช่อ มีดอกขนาดเล็กจำนวนมาก การใช้ประโยชน์จากดอกยังมีน้อย ยกเว้นนำไปถวายเป็นพุทธบูชา
หรือจัดแจกัน หรือทำเป็นกระเช้ามอบเป็นที่ระลึก หรือใช้ประดับในงานมงคลต่าง ๆ โดยใช้ทั้งช่อดอก
จึงได้รับความนิยม ส่วนต้นพันธุ์ของสกุลช้างจะเป็นที่นิยมปลูกของนักกล้วยไม้ทั่วไป เพราะเลี้ยงง่าย
เมื่อถึงฤดูออกดอกก็จะมีดอกให้ชื่นชมสม่ำเสมอ เช่น กล้วยไม้ช้างแดง ช้างเผือก ช้างกระ เป็นต้น
ส่วนกล้วยไม้ไทยสกุลสิงห์โตกลอกตานั้น ความนิยมในการนำดอกมาใช้ประโยชน์ยังมีน้อยมาก เพราะ
ก้านดอกสั้น ที่เป็นช่อก็มักมีจำนวนดอกในช่อน้อย หรือถ้ามีดอกช่อมาก ก็มักมีขนาดเล็ก สีสันไม่สะดุดตา
สกุลเข็มก็เช่นเดียวกัน เพราะช่อหนึ่ง ๆ มีดอกขนาดเล็ก ๆ เป็นจำนวนมากใช้ประโยชน์ได้ไม่มากนัก

2) โอกาสในการซื้อขายผลผลิต
 กล้วยไม้แต่ละสกุลมีโอกาสในการซื้อขายผลผลิตแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น

      (1) กล้วยไม้สกุลกุหลาบ เหมาะกับการตกแต่งภายใน ภายนอกอาคาร และบริเวณโดยรอบ
เช่น เกาะติดกับต้นไม้ใหญ่ หากปรับปรุงพันธุ์ให้ต้นเล็กลง ออกดอกบ่อยขึ้น อาจใช้เป็นไม้กระถางประดับ
โต๊ะทำงานในสำนักงานได้ ซึ่งหากทำได้เช่นนี้ตลาดจะกว้างขวางมากขึ้น

      (2) กล้วยไม้สกุลช้าง จะมีโอกาสในการซื้อขายผลผลิตในตลาดในประเทศมาก หากส่งเสริมให้
ใช้กล้วยไม้สกุลช้างในโอกาสต่าง ๆ กันกว้างขว้างมากขึ้น เช่น งานวันสำคัญทางศาสนา หรืองานเทศกาล
ต่าง ๆ ที่ตรงกับฤดูกาลที่กล้วยไม้ออกดอก ใช้เป็นพุทธบูชา ประดับสถานที่ในบริเวณงาน ใช้เครื่องประดับ
ของสตรีที่ไปร่วมในงานเทศกาลนั้น ๆ การตกแต่งภายในอาคารหากมีกล้วยไม้สกุลช้างที่มีดอกประดับอยู่
ในภาชนะบางอย่างนำไปตั้งโต๊ะทำงาน โต๊ะรับแขก โต๊ะประชุม โต๊ะอาหาร หรือตัดดอกไปปักแจกัน จะ
เพิ่มความหรูหรา มีสีสันและความสดชื่นให้แก่อาคารและผู้ที่อยู่ในอาคารเป็นอย่างมากช่อดอกกล้วยไม้
สกุลช้างอาจตัดมาปักแจกันร่วมกับไม้ใบหรือวัสดุตกแต่งอย่างอื่น เช่น กิ่งไม้ ตุ๊กตา เครื่องเคลือบดินเผา
เป็นต้น หรือจัดเป็นกระเช้ากล้วยไม้ หรือทำเป็นช่อดอกไม้ผูกริบบิ้นให้เป็นของขวัญ ของที่ระลึก มีค่า
เหมาะสำหรับเป็นของขวัญในงานใหญ่ ๆ และมีเกียรติ จะเป็นที่ถูกใจแก่ผู้รับมากกล้วยไม้สกุลช้าง
ที่ปลูกเลี้ยงกันอยู่ในกระเช้าหรือกระถางและกำลังมีดอกติดต้น อาจใช้เป็นของที่ระลึก ของเยี่ยมแก่คน
ที่เคารพนับถือมิตรสหายในโอกาสต่าง ๆ หรือคนป่วยที่นอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือที่บ้าน
และกล้วยไม้บางชนิดในสกุลเดียวกันนี้ คือกล้วยไม้ไอยเรศหรือพวงมาลัย และเขาแกะ ซึ่งตามปกติดอก
กล้วยไม้เหล่านี้จะมีสีเป็นจุด เป็นแต้มเกือบทั้งดอก แต่ถ้าต้นพันธุ์ต้นหนึ่งต้นใดมีดอกเป็นสีขาวบริสุทธิ์
หรือที่เรียกว่า "เผือก" จะจัดว่าเป็นต้นพันธุ์ที่หายากและจะมีค่ามากกล้วยไม้สกุลช้างเหมาะทีจะใช้ใน
การค้นคว้าวิจัย เช่น ทำเป็นพ่อพันธุ์ในการผสมพันธุ์ เพื่อพัฒนาลูกผสมให้มีคุณลักษณะที่จะใช้
ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจได้ เช่น เป็นกล้วยไม้ตัดดอก เนื่องจากมีคุณลักษณะหลายประการ เช่น
บางชนิดมีช่อดอกเป็นช่อยาว มีดอกในช่อเป็นจำนวนมาก ได้แก่ กล้วยไม้ช้างและไอยเรศ ถึงแม้ช่อดอก
จะเป็นช่อห้อย แต่ก็อาจพัฒนาลูกผสมให้เป็นช่อตั้ง เหมาะสำหรับตัดดอกจะไมยาวมาก แต่สีของดอก
บางต้นเป็นสีค่อนไปทางสีฟ้าหรือสีน้ำเงินอ่อน ซึ่งเป็นสีของดอกกล้วยไม้ที่หายากมาก ก็อาจพัฒนา
ให้เป็นลูกผสมกล้วยไม้ตัดดอกที่มีสีฟ้า หรือสีน้ำเงินขึ้นมาได้ นอกจากนั้น อาจปรับปรุงพันธุ์ให้ต้นเล็กลง
ออกดอกบ่อยขึ้น ใช้เป็นกระถางหรือไม้แคระสำหรับประดับภายในอาคารได้ส่วนโอกาสในการซื้อขาย
ผลผลิตในต่างประเทศนั้น ในปัจจุบันก็เห็นจะมีเพียงการขายต้นพันธุ์ออกไป แต่ถ้าเราสามารถปรับปรุง
พันธุ์ให้เป็นกล้วยไม้ตัดดอกได้ หรือทำเป็นไม้กระถาง ไม้แคระได้ จะมีตลาดต่างประเทศกว้างขวางมาก

     (3) กล้วยไม้สกุลสิงห์โตกลอกตา ตลาดในประเทศไม่ปรากฏด้วยเป็นกล้วยไม้ที่ออกดอกปีละครั้ง
จึงมีผู้นิยมปลูกกันน้อยมาก หากส่งเสริมให้มีการปลูกมากขึ้นและใช้ในโอกาสต่าง ๆ เช่น วันสำคัญทาง
พระพุทธศาสนา เทศกาลต่าง ๆ ใช้ประดับสถานที่ ประดับเครื่องแต่งกายสตรี ตลอดจนใช้ในการตกแต่ง
อาคาร ของเยี่ยมคนป่วย การศึกษาค้นคว้า วิจัย ทำนองเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง ตลาดภายในประเทศจะ
กว้างขวางขึ้น
  
     (4) กล้วยไม้สกุลเข็ม
 หากส่งเสริมให้ใช้ในโอกาสต่าง ๆ มากขึ้นจะมีโอกาสในการซื้อขายผลผลิต
ในประเทศมากขึ้น กล้วยไม้ผสมสกุลเข็มมีดอกสวยงาม สีสันแปลก ๆ เลี้ยงง่าย ออกดอกไม่เลือกฤดูกาล จะ
มีโอกาสในการขายมากกว่าอนึ่ง ในปัจจุบันการตื่นตัวปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไทยพันธุ์แท้ไว้ที่บ้านหรือสถานที่
ทำงาน เริ่มเป็นที่สนใจของคนไทยมากขึ้น แต่การนำกล้วยไม้ออกจากป่า เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ดังนั้นการเพาะด้วยเมล็ด หรือการขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเนื้อเยื่อ การแยกหน่อจากต้นที่มีอยู่แล้วและจัด
จำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจนำไปปลูกเลี้ยงต่อไป ก็จะเป็นทางซื้อขายผลผลิตได้เป็นอย่างดีอีกวิธีหนึ่งส่วน
โอกาสในการซื้อขายผลผลิตในต่างประเทศนั้น ได้แก่ การขายต้นพันธุ์ ซึ่งหากปรับปรุงพันธุ์เป็นกล้วยไม้
ตัดดอกหรือเป็นไม้กระเช้าได้ ตลาดต่างประเทศจะกว้างขวางมากขึ้น

3) แหล่งปลูก แหล่งปลูกที่เหมาะสมของกล้วยไม้สกุลช้าง สิงห์โตกลอกตาและเข็ม ก็คือแหล่งที่
พบกล้วยไม้ชนิดนั้น ๆ ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติหรือสถานที่ที่มีสภาพใกล้เคียงกัน ดังนั้น ส่วนใหญ่ในทุก ๆ
ภาคของประเทศไทยจึงสามารถปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ไทยสกุลช้าง สิงห์โตกลอกตา และลูกผสมสกุลเข็ม
เพื่อเป็นการค้าหรืองานอดิเรกได้แทบทุกชนิดสำหรับกล้วยไม้สกุลกุหลาบ ก็เช่นเดียวกับ 2 สกุลที่กล่าว
มากแล้ว คือ แหล่งปลูกที่เหมาะสมก็คือแหล่งที่พบอยู่ตามธรรมชาติ เช่น กุหลาบกระเป๋าเปิด ปลูกได้
ทุกภาคของประเทศไทย กุหลาบแดงปลูกได้ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กุหลาบอินทจักร
ปลูกได้ดีเฉพาะภาคเหนือ เป็นต้น ส่วนลูกผสมระหว่างกล้วยไม้ในสกุลกุหลาบด้วยกันจะปลูกเลียงง่าย
ออกดอกง่ายกว่าพันธุ์แท้ แต่ก็ยังเลือกถิ่น เช่น กุหลาบบางกอก (กระเป๋าเปิดผสมกับมาลัยแดง) ซึ่งดอก
มีสีม่วงแดง โดยมีสีอ่อนที่โคนกลีบ และเข้มขึ้น ๆ ไปทางปลายกลีบ กุหลาบบางกอกนี้ถ้าปลูกในกรุงเทพฯ
จะออกดอกเป็นช่อไม่แตกแขนง แต่ถ้านำไปเลี้ยงที่เชียงใหม่ช่อดอกจะแตกแขนง เป็นต้น

4) ช่องทางการจำหน่ายผลผลิต ในด้านต้นทุนและรายได้นั้น ยังกำหนดไม่ได้เนื่องจากไม่มี
การบันทึกไว้เป็นหลักฐาน และยังไม่อยู่ในความนิยมของตลาดเท่าใดนัก แต่ถ้ามีการแนะนำส่งเสริมให้
ใช้ดอกหรือต้นที่มีดอกมากขึ้นราคาก็จะสูง รายได้ก็จะดี เมื่อรายได้ดีก็จะมีผู้หันมาเพาะเลี้ยงกันมากขึ้น
ราคาก็จะถูกลง นั่นคือ การแข่งขันในเชิงธุรกิจการค้า คือขณะที่ราคาถูกเพราะการแข่งขันสูง ผู้ที่จะยึด
อาชีพนี้อยู่ได้ ก็คือผู้ที่สามารถลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลงได้ซึ่งคุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพนี้ก็จะต้อง
เป็นผู้มีใจรักเป็นทุนเดิมอยู่แล้วประกอบกับต้องเป็นคนช่างสังเกต ประณีต ถ้าเป็นคนทำอะไรลวก ๆ
หยาบ ๆ แล้ว โอกาสที่จะประสบความสำเร็จเป็นไปได้ยาก

5) ข้อปฏิบัติในการจำหน่าย อาจจำหน่ายต้นกล้วยไม้ที่อยู่ในขวดในกรณีที่เราสามารถผสมพันธุ์ลูกผสมได้
หรือแม้แต่ผลิตพันธุ์แท้ก็น่าจะจำหน่ายได้เช่นกัน และถ้าเรามีต้นที่มีคุณลักษณะดีเด่นเป็นพิเศษ อาจนำไป
เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่กล้วยไม้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อราคาจะแพง เพราะต้นทุนในการผลิตจะสูงกว่าการเพาะเมล็ด
นอกจากจำหน่ายกล้วยไม้ในขวดแล้ว อาจจำหน่ายลูกกล้วยไม้ในกระถางหมู่ หรือในกระถางนิ้ว เลยไปถึง
กล้วยไม้รุ่นที่จวนออกดอกหรือเริ่มแทงช่อดอกช่อแรกได้


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

     กล้วยไม้ไทยสกุลต่าง ๆ สามารถทำการซื้อขายกันได้โดยเสรี แต่การเก็บออกจากป่าจะต้องได้รับอนุญาต
จากกรมป่าไม้ก่อน ส่วนการซื้อขายระหว่างประเทศนั้น ตามอนุสัญญาไซเทส กำหนดให้กล้วยไม้สกุล
ต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พืชอนุรักษ์ บัญชีที่ 2 เรื่องนี้มีที่มาพอสรุปได้ดังต่อไปนี้

     สมาชิกสหภาพระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ได้พิจารณาเห็นว่าสัตว์ป่า
และพืชป่าเป็นสิ่งที่มีค่า ไม่อาจหามาทดแทนได้หากสูญพันธุ์ไป จึงได้ร่วมกันร่างอนุสัญญาว่าด้วยการค้า
ระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade
in Endangered Species of Wild Fauna and Flora = CITES) ขึ้น เพื่อให้เกิดความร่วมมือ
กันระหว่างประเทศ อนุสัญญานี้มีผลบังคับให้ใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2518 รัฐบาลไทยได้ให้
สัตยาบันเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2526 ทำให้เกิดความจำเป็นในการกำหนดมาตรการและกฎหมายเพื่อ
บังคับใช้ให้เป็นไปตามข้อบังคับของอนุสัญญานี้ ในส่วนของการควบคุมพืชป่านั้น กรมวิชาการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

     ตามอนุสัญญาไซเทส ได้มีการกำหนดพืชอนุรักษ์เป็น 3 ระดับ โดยขึ้นบัญชีเป็น 3 บัญชี คือ

1. พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 1 หมายถึงชนิดพันธุ์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ และมีเหลืออยู่น้อยมาก
ห้ามมิให้นำเข้า ส่งออก ยกเว้นกรณีพิเศษ การนำเข้า ส่งออกซึ่งชนิดพันธุ์ในบัญชีนี้ต้อง
คำนึงถึงความอยู่รอดของชนิดพันธุ์นั้น ๆ เป็นสำคัญตัวอย่างชนิดพันธุ์ในบัญชีที่ 1 ได้แก
่ กล้วยไม้รองเท้านารีทุกชนิด (Paphiopedilum spp.) ฟ้ามุ่ย (Vanda coerulea)
เอื้องปากนกแก้ว (Dendrobium cruentum Rchb.f.) เป็นต้น

2. พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 2 หมายถึงชนิดพันธุ์ที่มีอยู่ค่อนข้างน้อย แต่ยังไม่ถึงกับใกล้จะ
สูญพันธุ์ มีการอนุญาตให้นำเข้า ส่งออกได้ แต่ต้องมีการควบคุมที่เหมาะสม ตัวอย่างชนิดพันธุ์
ได้แก่ หม้อข้าวหม้อแกงลิง (Nepenthes spp.)

3. พืชอนุรักษ์บัญชีที่ 3 หมายถึงพันธุ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของประเทศ
สมาชิกอนุสัญญาไซเทส ประเทศใดประเทศหนึ่ง แล้วขอความร่วมมือจากประเทศภาคีให้ช่วย
ดูแลการนำเข้า ส่งออก ซึ่งชนิดพันธุ์นั้น เช่น ต้นมะเมื่อย (Gnetum montanum)

     สำหรับกล้วยไม้ทุกสกุลทุกชนิดจัดอยู่ในบัญชีที่ 2 ทั้งหมด ยกเว้นที่ขึ้นบัญชีที่ 1ไว้แล้ว

     ระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงและการจำหน่ายกล้วยไม้ไปต่างประเทศ
และการนำเข้าประเทศ พอสรุปได้ดังต่อไปนี้

     (1) การนำเข้า ส่งออก พืชอนุรักษ์และซาก จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

     (2) ให้มีการจดทะเบียน สถานที่ขยายพันธุ์เทียมพืชอนุรักษ์เพื่อการค้าการขยายพันธุ์เทียม
            หมายถึงการขยายพันธุ์ที่ต้องกระทำภายใต้การจัดการและควบคุมสภาพแวดล้อมโดย
            มนุษย์ เพื่อการผลิตพันธุ์ และต้องคงปริมาณพ่อ - แม่พันธุ์ไว้ด้วย

      (3) ผู้ที่ขยายพันธุ์เทียมพืชอนุรักษ์ จะต้องขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นพืชอนุรักษ์
             บัญชีที่ 1 หรือ 2 หรือ 3

      (4) สำหรับการขึ้นทะเบียน สถานที่เพาะเลี้ยงพืชอนุรักษ์บัญชีที่ 1 เจ้าหน้าที่วิชาการพืชอนุรักษ์
             จะไปตรวจสอบสถานที่เพาะเลี้ยงว่าถูกต้องหรือไม่ก่อนที่จะออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน

      (5) หนังสือสำคัญ ในการขึ้นทะเบียนพืชบัญชีที่ 1 ฉบับละ 500 บาท มีอายุ 5 ปี สำหรับพืชใน
             บัญชีที่ 2 และ 3 ยกเว้นค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนให้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนที่กองควบคุม
             พืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

      (6) การนำเข้าพืชอนุรักษ์ จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และจะต้องมีหนังสือ
             อนุญาตจากประเทศต้นทางกำกับมาด้วย

      (7) ห้ามมิให้ส่งออกพืชอนุรักษ์ในบัญชีที่ 1 ที่ได้จากป่า ยกเว้นเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์
             โดยความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่วิชาการพืชอนุรักษ์และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

      (8) การส่งออกพืชอนุรักษ์ในบัญชีที่ 1 ที่ได้จากการขยายพันธุ์เทียม ผู้ส่งออกจะต้องแสดงหลักฐาน
            ของแหล่งที่มา วิธีการยายพันธุ์เทียม หรือหมายเลขใบสำคัญการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะเลี้ยง
            พืชอนุรักษ์เพื่อการค้า ต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตส่งออก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

คุณว่ากษตรมีความสำคัญหรือไม่